วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จักเครื่องครัวเสตนเลส


     ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดเกี่ยวกับเครื่องครัวเสตนเลส เข้าใจแต่ว่าคือเครื่องครัวโลหะชนิดหนึ่ง พอเริ่มรู้จักใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ก็จะเริ่มสนใจว่าหม้อใบไหนใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ บางครั้งก็จะงงๆ ว่าทำไมบางใบใช้ได้ บางใบใช้ไม่ได้ พอมาขายเครื่องครัวก็ต้องเริ่มสัมผัสกับเสตนเลสมากขึ้น จะเริ่มสังเกตเพียงแค่ว่า ใบไหนดูสวยคุณภาพดี ดูหนาดีน่าใช้ เลยคิดแค่ว่าเสตนเลสมีแบบเกรดดีกับไม่ดี บางทีก็ได้ยินเขาพูดกันว่าเสตนเลสแท้กับไม่แท้ จนวันหนึ่งมีคนถามว่า “หม้อใบนี้เป็นเสตนเลสเกรดไหน” เราก็ตอบได้แค่ว่าดูดีนะ หนาดี เขาถามต่อว่า “เกรด 18 อะไร” เราก็ อ้าว! งง จะรู้ได้ไงว่าเป็นเกรดไหน จนมาลองสังเกตดีๆ จะเห็นตัวเลขตัวเล็กๆ ที่ภาชนะเสตนเลสตัวที่ดูดีหน่อยจะเห็นเขียนว่า 18/8 หรือ 18-8 และ 18-10 บ้าง อ๋อเขาดูอย่างนี้นี่เอง แล้วทำไมต้อง 18-8 เลยพยายามทำความเข้าใจดู ประมวลเป็นความเข้าใจตัวเองได้ว่า
     “สเตนเลสหรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ เหล็กกล้าไร้สนิม         เป็นโลหะธาตุผสมกันระหว่าง เหล็กและ โครเมี่ยม โดยจะต้องมีส่วนผสมของโครเมียม อย่างน้อย 10.5% ตามความเข้าใจในภาพรวมเสตนเลสจะมีการจัดกลุ่มหลายเกรด หลายแบบตามธาตุโลหะธาตุที่ผสมตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่นใช้งานเพื่อทนการกัดกร่อน ใช้เพื่อให้เหมาะกับการขึ้นรูปโครงสร้างที่ดี ใช้เพื่อความแข็งแกร่งทนทาน ใช้เพื่อทนกับสภาพความเป็นกรดด่างเป็นต้น จึงมีการจัดกลุ่มเป็นเสตนเลสตระกูลต่างๆ ตามสัดส่วนของโลหะธาตุที่ผสมอยู่ ตรงนี้คงไม่พูดถึง ส่วนตัวอยากรู้แค่ ตัวไหนดีและเหมาะกับเครื่องครัว ก็ได้คำตอบว่า สเตนเลสที่อยู่ในกลุ่มที่มีความปลอดภัยด้านอาหารการกิน (food grade) ก็ต้องใช้สเตนเลสในตระกูล 300 คำว่าตระกูล 300 คือ จะลงท้ายด้วยเลขอะไรก็ช่างจะต้องขึ้นต้นด้วย 300 เช่น 304 316 สำหรับเสตนเลสในตระกูล 300 ที่จัดว่าดีสำหรับภาชนะที่ใช้กับอาหาร ก็คือสเตนเลสเกรด 304 หรือ 18-8 แล้วเกี่ยวกันยังไงทำไมจึงเรียกไม่เหมือนกัน ต้องท้าวความไปอีกว่า
สเตนเลสเกรด 304 เราเรียกเสตนเลสเกรด 18-8 เพราะ เป็นเสตนเลสที่มีส่วนผสมของ โครเมี่ยม 18% และ นิเกิล 8% แล้วถ้าบอกว่าเกรด 18-10 นั่นก็คือเป็นเสตนเลสที่มีส่วนผสมของ โครเมี่ยม 18% และ นิเกิล 10% ปกติทั่วไปเสตนเลสไม่ได้มีการผลสมนิเกิลเป็นธาตุหลัก นิเกิลเป็นธาตุตัวหนึ่งที่ใช้ผสมลงในเนื้อสเตนเลสบางเกรด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หรือผสมไม่เท่ากัน เช่นในตระกูล 400 จะไม่มี แต่ในตระกูล 200 เกรด 201-202 จะมีนิเกิล 2 - 4 %


ตัวอย่างหม้อเสตนเลส 18-8
     ผสมนิเกิลแล้วดีอย่างไร คำตอบก็คือว่า ตัวนิเกิลนี้จะช่วยให้ไม่เป็นสนิม และเมื่อเติมธาตุนิเกิลลงไปก็จะทำให้สเตนเลสนั้น ไม่มีการตอบสนองกับการดูดของแรงแม่เหล็ก ดังนั้นตระกูลที่ไม่มีการเติมนิเกิลลงไปเช่น ตระกูล 400 ก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับแรงดูดของแม่เหล็ก แต่เกรด 18-8 มีปริมาณนิเกิล 8% แม่เหล็กจึงดูดไม่ติด ถึงความเข้าใจตรงนี้ ก็เลยทำให้บางคนจึงตีความว่า ภาชนะเสตนเลสตัวไหนที่แม่เหล็กดูดติดแปลว่าไม่ใช่เสตนเลสแท้ แล้วก็มีคำถามว่าหากผสมนิเกิลแล้วมีข้อดีหลายอย่างเช่นถ้ามีมากคือตัวเลขสูงเช่น 18-10 หรือ 18-12 ก็ยิ่งดูสวยเงาแวววาว ทนทาน แล้วทำไมส่วนใหญ่ไม่ทำกัน คำตอบคือว่า ราคาค่อนข้างสูง หากผสมก็จะมีต้นทุนราคาที่สูงขึ้นมากแตกต่างกันด้วย ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าหากภาชนะเสตนเลสใดใช้แล้วมีรอยเข้มคล้ายจะเป็นสนิม หรือเป็นสนิม หรือใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ หมายความว่าภาชนะเสตนเลสนั้นไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของเสตนเลสที่มีคุณภาพ



ภาพตัวอย่างกลุ่มเครื่องครัวเสตนเลสเกรด 304 หรือ 18-8

     ในปัจจุบันคนนิยมหันมาใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อความสะดวกสบายกับบางสถานที่เช่นหอพัก อพาร์ทเม้น คอนโดมิเนียม การมีภาชนะที่ใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราก็เป็นหนึ่งในนั้นเพราะรู้สึกว่าสะดวกดีภาชนะเสตนเลสที่จัดอยู่ในกลุ่มแม่เหล็กดูดไม่ติดเช่นตระกูล 300 นี้ก็มีการพัฒนาผสมผสาน ให้ก้นภาชนะ ให้เป็นส่วนที่แม่เหล็กดูดติดสามารถใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ชึ่งตรงนี้ก็ทำให้เราจะสรุปเสียเลยทีเดียวไม่ได้ว่าหม้อเสตนเลสใบไหนที่ใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ไม่ใช่เสตนเลสคุณภาพ ต้องดูองค์ประกอบทั้งหมดของภาชนะนั้น แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าภาชนะเสตนเลสที่ดูดีมีคุณภาพ แวววาว แม่เหล็กดูดไม่ติด ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของเสตนเลสคุณภาพตระกูล 300 หรือ 18-8, 18-10 และ 18-12 เป็นต้น 
ตัวอย่างหม้อเตนเลสเกรด 18-10 ที่เสริมส่วนก้นหม้อที่ทำให้แม่เหล็กดูดติดเพื่อใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้

     ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างกลุ่มเสตนเลสเกรด 18-10 จะสังเกตเห็นว่ามีความแวววาวดูสวยงาม

ถังแช่ไวน์ สวยงามแวววาว

ชุดหม้อเอนกประสงค์ เนื้อหนา

หม้อซุปดูสวยแวววาว

ชุดช้อนบนโต๊ะชากาแฟ 

     ตามที่พูดมาจะเห็นว่าการใช้ภาชนะเครื่องครัวเสตนเลสที่มีคุณภาพ ทนทานไม่เป็นสนิมง่าย เหมาะกับการใช้กับอาหาร ช่วยให้เราสบายใจ และใช้อย่างมีความสุข บางคนถึงกับหลงรัก ทั้งนี้ถึงเสตนเลสกลุ่มนี้จะมีความทนทานต่อการกัดกร่อนเป็นสนิมก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเป็นสนิมเลย ต้องขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาดูแลด้วย หากชอบปล่อยทิ้งคราบอาหาร คราบน้ำมันไว้นานๆ บ่อยๆ ไม่ล้างทันทีเมื่อใช้งานเสร็จ ก็มีโอกาสเกิดสนิมได้เช่นกัน